โพส เว็บประกาศลด แหล่งรวม ลงประกาศฟรี
หมวดหมู่ทั่วไป => โพสฟรี => ข้อความที่เริ่มโดย: siritidaphon ที่ วันที่ 11 พฤษภาคม 2025, 19:21:13 น.
-
หมอออนไลน์: เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) (https://doctorathome.com/)
เยื่อหุ้มสมอง (meninges) หมายถึง แผ่นเยื่อบาง ๆ ที่ห่อหุ้มเนื้อสมองและไขสันหลังไว้ ถ้าเยื่อนี้เกิดการติดเชื้ออักเสบ เรียกว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
โรคนี้นับว่าเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งยังพบได้บ่อยในบ้านเราในคนทุกวัย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ อาจตายหรือพิการได้
สาเหตุ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบ่งออกได้หลายชนิด ซึ่งมีสาเหตุและความรุนแรงแตกต่างกันไป เช่น
1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดมีหนอง (acute purulent meningitis) อาจเกิดจากเชื้อนิวโมค็อกคัส (pneumococcus) สเตรปโตค็อกคัส (streptococcus) อีโคไล (E. coli) เมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) สแตฟีโลค็อกคัส (staphylococcus) เคล็บซิลลา (klebsiella) ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ (Hemophilus influenzae) เป็นต้น ซึ่งมักจะมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันที และมีความรุนแรง อาจเป็นอันตรายในเวลาอันรวดเร็ว
เชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากแหล่งติดเชื้อที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย (เช่น ปอดอักเสบ กระดูกอักเสบเป็นหนอง คออักเสบ ฝีที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ) ผ่านกระแสเลือดไปที่เยื่อหุ้มสมอง
หรือไม่เชื้อก็อาจลุกลามโดยตรง เช่น ผู้ป่วยหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ อาจมีเชื้อโรคจากบริเวณดังกล่าวลุกลามไปถึงเยื่อหุ้มสมองโดยตรงหรือผู้ป่วยที่มีกะโหลกศีรษะแตก อาจมีเชื้อโรคลุกลามจากภายนอก เป็นต้น
2. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค (tuberculous meningitis) เกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งมักจะแพร่กระจายจากปอดหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายไปที่เยื่อหุ้มสมองโดยผ่านทางกระแสเลือด โรคนี้มักจะมีอาการค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ อาจกินเวลาเป็นสัปดาห์ แต่ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรง จึงทำให้มีอัตราตายหรือพิการค่อนข้างสูง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในเด็กอายุ 1-5 ปี
3. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส (viral meningitis) อาจเกิดจากเชื้อคางทูม เชื้อไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) เชื้อค็อกแซกกี (coxsackie virus) ไวรัสเฮอร์ปีส์ (herpesvirus) เชื้อเอชไอวี เป็นต้น เชื้อโรคมักแพร่กระจายผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง และบางกรณีอาจมีการอักเสบของเนื้อสมองร่วมด้วย
4. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา ที่พบบ่อยในบ้านเรามีสาเหตุจากเชื้อคริปโตค็อกคัส (cryptococcus) ซึ่งพบในอุจจาระของนกพิราบ ไก่ และตามดิน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเข้าทางปอด ผ่านกระแสเลือดไปที่เยื่อหุ้มสมอง อาการจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่นเดียวกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค มักพบในผู้สูงอายุและผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอเนื่องจากเป็นโรคเอดส์ มะเร็ง โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน เอสแอลอี ไตวาย ตับแข็ง เป็นต้น) หรือมีประวัติกินยาสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันมานาน ส่วนในเด็กพบได้น้อยมาก เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่ง เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดนี้ มีชื่อเรียกว่า เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis)
5. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิ (eosinophilic meningitis) ที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่ ตัวจี๊ด และพยาธิแองจิโอ (Angiostrongylus canthonensis) โรคนี้อาจมีความรุนแรงมากน้อยแล้วแต่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง ถ้ามีเลือดคั่งในสมองหรือสมองส่วนสำคัญถูกทำลายก็อาจทำให้ตายหรือพิการได้ ถ้าเป็นไม่รุนแรงจะหายได้เอง
พยาธิแองจิโอ พบมากทางภาคกลางและภาคอีสาน เป็นพยาธิที่มีอยู่ในหอยโข่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติกินหอยโข่งดิบก่อนมีอาการประมาณ 1-2 เดือน พยาธิเข้าไปในกระเพาะสำไส้และไชเข้าสู่กระแสเลือดแล้วขึ้นไปที่สมอง โรคนี้มักพบในตอนปลายฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่หอยโข่งตัวโตเต็มที่ ซึ่งชาวบ้านจะจับกิน
6. เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (primary amebic meningoencephalitis) เกิดจากเชื้ออะมีบาที่มีชื่อว่า Naegleria fowleri ซึ่งอาศัยอยู่ในบ่อน้ำหรือที่มีน้ำไหลช้า ๆ หรือที่เป็นดินโคลน เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการเล่นน้ำในบึง คู คลอง หรือสระน้ำที่มีเชื้ออยู่ หรือถูกน้ำสาดเข้าจมูก หรือสูดน้ำเข้าจมูก ตัวอะมีบาจะไชผ่านเยื่อบุของจมูก และเส้นประสาทการรู้กลิ่น (olfactory nerve) เข้าบริเวณฐานสมอง แล้วแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ระยะฟักตัว 3-7 วัน (อาจนานถึง 2 สัปดาห์) โรคนี้มีความร้ายแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต
7. เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส ซิฟิลิส เมลิออยโดซิส บรูเซลโลซิส เป็นต้น
8. อื่น ๆ เช่น เอสแอลอี มะเร็งบางชนิด ผลข้างเคียงจากยา (เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โคไตรม็อกซาโซล เพนิซิลลิน ไซโพรฟล็อกซาซิน อัลโลพูรินอล เมโทเทรกเซต เป็นต้น ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิต้านตนเอง และหลังหยุดยาโรคก็จะทุเลาไปเอง)
อาการ
อาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมาก และคอแข็ง (คอแอ่นไปข้างหลัง และก้มไม่ลง)
ผู้ป่วยส่วนมากจะบ่นปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษะ (เช่น ก้มศีรษะ) มักจะปวดติดต่อกันหลายวัน และอาจรู้สึกปวดคล้ายศีรษะจะระเบิด กินยาแก้ปวดก็ไม่ช่วยให้ทุเลา
ส่วนอาการไข้ อาจมีไข้สูงตลอดเวลาหรือไข้ต่ำ ๆ ก็ได้ แล้วแต่สาเหตุ ถ้ามีสาเหตุจากพยาธิอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้
ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกลัวแสง (ตาไม่สู้แสง) กระสับกระส่าย สับสน ซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดสติ
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการกลัวแสง เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาตหรือชักติด ๆ กันนาน ๆ
ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาการอาจไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้สูง กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก ไม่อยากนมและอาหาร
ในผู้ป่วยที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลันชนิดเป็นหนอง อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือเจ็บคอนำมาก่อนสัก 12-14 ชั่วโมง แล้วจึงเกิดอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส (meningococcal meningitis) อาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมด้วย และอาจเกิดภาวะช็อกอย่างรวดเร็ว โรคนี้อาจพบระบาดได้ สามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ บ้านเราเรียกว่า ไข้กาฬหลังแอ่น (ดูเพิ่มเติมใน "โรคไข้กาฬหลังแอ่น")
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึม หรือชัก ส่วนมากจะมีอาการอยู่ประมาณ 2 วันถึง 2 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ หายจนเป็นปกติ ส่วนน้อยอาจมีโรคแทรกซ้อน
ถ้ามีสาเหตุจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา มักจะมีอาการเป็นไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนนำมาก่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมาจึงมีอาการคอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง หรือชัก
ถ้ามีสาเหตุจากพยาธิ มักมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง บางรายอาจมีอาการอัมพาตของใบหน้าหรือแขนขา
ถ้ามีสาเหตุจากตัวจี๊ด อาจมีประวัติอาการของโรคพยาธิตัวจี๊ด นำมาก่อน
ถ้ามีสาเหตุจากเชื้ออะมีบา แรกเริ่มจะมีอาการคัดจมูก การรับรู้กลิ่นเสียไป ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะมาก โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ซึม ชัก
กระหม่อมโป่งตึง
ตรวจอาการคอแข็ง
ภาวะแทรกซ้อน
มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้าไปและมักพบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อวัณโรค เชื้อเมนิงโกค็อกคัส) เชื้อรา และพยาธิ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น โรคลมชัก แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาบอด ตาเหล่ ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ สมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) ฝีสมอง เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งจะตรวจพบไข้สูง (บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้)
มักตรวจพบอาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง) ในเด็กเล็กพบกระหม่อมโป่งตึง
อาจพบอาการซึม ไม่ค่อยรู้ตัว สับสน แขนขาเป็นอัมพาต ชัก หมดสติ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะหลัง (lumbar puncture) ซึ่งจะพบความผิดปกติของน้ำไขสันหลัง เช่น ความดันน้ำไขสันหลังสูงกว่าปกติ น้ำไขสันหลังขุ่น (ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดเป็นหนอง) มีการเปลี่ยนแปลงของชนิดและปริมาณของเม็ดเลือดขาว มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลและโปรตีน ตรวจพบเชื้อก่อโรคจากการนำน้ำไขสันหลังไปตรวจย้อมสี (smear and stain) หรือเพาะเชื้อ (culture) เป็นต้น ความผิดปกติของน้ำไขสันหลังจะมีลักษณะจำเพาะตามสาเหตุของโรค จึงนำมาใช้ในการแยกแยะสาเหตุ
นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ ถ่ายภาพรังสีปอดและไซนัส ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุ และประเมินความรุนแรงของโรค
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลและให้การรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง (เช่น ยาลดไข้ ยากันชัก ปรับดุลสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ เจาะหลังเพื่อลดความดันน้ำไขสันหลัง เจาะคอช่วยหายใจในรายที่หมดสติ ให้อาหารทางสายยางในรายที่กินไม่ได้ เป็นต้น) และให้ยารักษาเฉพาะตามสาเหตุ เช่น
ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อต้นเหตุ
ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยารักษาวัณโรค นาน 6 เดือน
ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา เช่น แอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B) ฟลูโคนาโซล (fluconazole) ไอทราโคนาโซล
ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ก็อาจให้ยาต้านไวรัส หรือเพียงแต่ให้การรักษาตามอาการขึ้นกับชนิดของไวรัสที่พบ
ถ้าเกิดจากพยาธิ ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะให้การรักษาตามอาการและทำการเจาะหลังซ้ำบ่อย ๆ เพื่อลดความดันน้ำไขสันหลังให้กลับลงสู่ปกติ หลังเจาะหลังผู้ป่วยจะรู้สึกอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้สเตียรอยด์ จะช่วยลดระยะเวลาของการปวดศีรษะ และลดจำนวนครั้งของการเจาะหลังลง
ถ้าเกิดจากเชื้ออะมีบา จะให้ยาฆ่าเชื้ออะมีบา
ผลการรักษา ถ้าอาการไม่รุนแรง และได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ มักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน และหายเป็นปกติภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง (เช่น หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ) หรือได้รับการรักษาล่าช้าไป หรือพบในทารกแรกเกิดหรือผู้สูงอายุ ก็อาจเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองตามมาได้ บางรายอาจมีโรคลมชักแทรกซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องให้ยากันชักรักษาอย่างต่อเนื่อง
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ก้มคอไม่ลง (คอแข็ง) อาเจียนรุนแรง ซึม ชัก หรือหมดสติ ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน
เมื่อพบว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
1. ป้องกันมิให้เป็นวัณโรค โดยการฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ตั้งแต่แรกเกิด และถ้าเป็นวัณโรคควรรักษาให้หายขาด เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อน หรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
2. ป้องกันมิให้เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด และโรคพยาธิแองจิโอ โดยการไม่กินกุ้ง ปลา หรือหอยโข่งดิบ
3. ถ้าเป็นโรคหูน้ำหนวกหรือหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเข้าสมอง
4. ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัส (ใกล้ชิด) ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไรแฟมพิซิน กินป้องกัน
ข้อแนะนำ
โรคนี้จัดเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ถ้าหากให้การรักษายิ่งช้าก็ยิ่งมีอันตราย ดังนั้น ถ้าพบคนที่มีอาการปวดศีรษะ หรืออาเจียนอย่างรุนแรงที่ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที