จัดฟันบางนา: ข้อดี-ข้อเสีย ของการใส่ “เฝือกสบฟัน”เชื่อว่าหลายคนคงอาจจะยังไม่เคยได้ยินคำว่า “เฝือกสบฟัน” และยังสงสัยว่าคืออะไร มีหน้าที่ หรือประโยชน์อย่างไร เหตุใดจึงต้องใส่ วันนี้ Idol Smile จะมาไขข้อสงสัย ว่าเฝือกใส่ฟันนั้นมีหน้าที่อะไร ดังต่อไปนี้
เฝือกสบฟัน คืออะไร ?
เฝือกสบฟัน หรือที่เรียกว่า Occlusal splint ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทันตกรรม ที่ทันตแพทย์มักเลือกใช้ในคนไข้ที่มีอาการเจ็บปวดข้อต่อขากรรไกรหรือกล้ามเนื้อบดเคี้ยว แถมยังสามารถป้องกันฟันบดเคี้ยวสึกกร่อนของคนไข้ที่ชอบนอนกัดฟันได้อีกด้วย
เฝือกสบฟันเหมาะสมกับผู้ใดบ้าง ?
โดยส่วนใหญ่แล้วทันตแพทย์มักจะนิยมใช้เฝือกสบฟันกับคนไข้ที่มีปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อบดเคี้ยว หรือ ข้อต่อขากรรไกรเพียงบางประเภทเท่านั้น โดยจะแบ่งออกเป็นดังนี้
– คนไข้ที่มีอาการนอนกัดฟันขั้นรุนแรง หรือมีอาการใช้ฟันบดเคี้ยวมากกว่าปกติ ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ใส่ตอนก่อนนอน
– มีเสียงแปลกๆที่ขากรรไกรในเวลาที่คนไข้ทำการอ้างปากและหุบปาก
– คนไข้มีสภาวะข้อเสื่อมขากรรไกร
เฝือกสบฟันมีประโยชน์อย่างไร ?
เฝือกสบฟันนั้นมีประโยชน์โดยตรงสำหรับผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันรุนแรง เพราะ การนอนกัดฟันอย่างรุนแรงนั้น มีส่วนอย่างมากในการทำให้กล้ามเนื้อเกร็งจนถึงขั้นปวด และฟันที่ใช้บดเคี้ยวสึกกร่อน จึงจำเป็นจะต้องใช้เฝือกสบฟันที่มีหน้าที่กระจายแรงบดเคี้ยวของฟัน ทำให้รักษาสภาพฟันไม่ให้สึกกร่อน
เฝือกสบฟันมีกี่ประเภท และ มีข้อเสียอะไรบ้าง ?
เฝือกสบฟันที่ทันตแพทย์นิยมใช้กับคนไข้หลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท โดยทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกัน และ มีข้อเสียอย่างไรบ้าง Idol Smile จะมาไขข้อข้องใจเพื่อให้คุณผู้อ่านได้เลือก เฝือกสบฟัน ที่เหมาะสมกับตนเองดังต่อไปนี้
1. เฝือกสบฟันชนิดอ่อน (Soft Occlusal Splint)
เฝือกสบฟันชนิดอ่อนนุ่มนี้ จะมีลักษณะนุ่มเบา และทันตแพทย์นิยมให้ใช้เฝือกสบฟันแบบนิ่ม ในขณะที่รอแบบแข็ง หรือใช้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะ เฝือกสบฟันแบบนิ่ม สามารถนำมาให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างรวดเร็ว
แถมยังเหมาะสมหากจะนำเฝือกสบฟันแบบนิ่มนี้ไปให้ผู้ป่วยอายุน้อย ที่ฟันในช่องปากยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ เนื่องจากว่าเฝือกสบฟันแบบนิ่มนี้ สามารถยืดหยุ่นได้ดี จึงไม่เป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของขากรรไกร
ทั้งนี้ยังจำเป็นอย่างมากในการใช้บำบัดฉุกเฉินในผู้ป่วยที่มีอาการปวดขากรรไกรเป็นอย่างรุนแรง โดยสามารถใช้เฝือกสบฟันแบบอ่อนนี้เพื่อรอเฝือกสบฟันชนิดแข็งที่ต้องใช้ระยะเวลาได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เฝือกสบฟันแบบอ่อน ยังมีประโยชน์ในการว่ายน้ำ เนื่องจากว่าในสระว่ายน้ำมีคลอรีนมากพอที่จะทำให้ฟันสึกกร่อน การใส่เฝือกสบฟันแบบอ่อนเป็นตัวช่วยที่ดีมากอีกวิธีหนึ่ง
– ข้อเสียของการใส่เฝือกสบฟันชนิดอ่อน
เฝือกสบฟันชนิดอ่อนถือได้ว่าเป็นเฝือกสบฟันที่ไม่คงทน ไม่มีความแข็งแรง มีอายุการใช้งานที่สั้น จึงทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อย ทำให้สิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก และบางทีอาจจะไม่สามารถช่วยเรื่องการนอนกัดฟันสำหรับผู้ที่นอนกัดฟันรุนแรงได้
2. เฝือกสบฟันชนิดแข็ง (Hard Occlusal splint)
เฝือกสบฟันชนิดแข็งนี้ โดยส่วนมากจะทำจากพลาสติกที่มีความแข็ง มีความคงทนเป็นอย่างมาก มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ต่างกับเฝือกสบฟันชนิดอ่อนอย่างมาก แต่ใช้ระยะเวลาในการสร้างเฝือกนาน
ซึ่งเฝือกสบฟันชนิดแข็งนี้ ทันตแพทย์มักนิยมใช้กับคนไข้ที่มีอาการนอนกัดฟันอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันฟันสึก แถมยังช่วยอาการปวดเมื่อยขากรรไกร และกล้ามเนื้อบดเคี้ยวได้ดีอีกด้วย
และที่สำคัญเลยที่ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใส่เฝือกสบฟันแบบแข็งก็คือ คนไข้ที่มีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร เช่น ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม หรือ คนไข้ที่มีอาการติดขัดเวลาอ้าปากหุบปาก
– ข้อเสียของเฝือกสบฟันชนิดแข็ง
เฝือกสบฟันชนิดแข็งต้องใช้เวลาในการทำนานกว่าเฝือกสบฟันชนิดอ่อนมาก แถมยังไม่ควรนำไปใส่กับเด็กที่ฟันและขากรรไกรยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ เพราะ เฝือกสบฟันแบบแข็งจะเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของ ฟันและขากรรไกร
วิธีใช้เฝือกสบฟัน ?
– ควรใส่เฝือกสบฟันในเวลากลางคืน หรือ ที่ทันตแพทย์ได้กำหนดไว้เท่านั้น
– เมื่อใส่เฝือกสบฟัน จะมีความรู้สึกตึงๆที่ฟันประมาณ 2-3 นาที
– หากใส่เฝือกสบฟันแล้วมีอาการปวด ควรรีบถอดออก และนำไปให้ทันตแพทย์เพื่อแก้ไข
– ในช่วงแรกที่ใส่เฝือกสบฟัน จะมีอาการน้ำลายเต็มปาก แต่หากใส่จนเคยชินแล้วก็จะเป็นปกติ
– เมื่อถอดเฝือกสบฟัน จะรู้สึกว่าฟันไม่ปกติ แต่ทิ้งเวลาไว้ซักระยะ ฟันจะกลับมาเป็นปกติเองตามธรรมชาติไม่ต้องตกใจ
– ควรทำความสะอาดเฝือกสบฟันทุกวันหลังจากใส่แล้ว ด้วยแปรงสีฟัน และ แช่น้ำปิดฝาในภาชนะที่สะอาด และควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน