4 วิตามินบำรุงสมองและเสริมความจำวิตามินบำรุงสมองมีประโยชน์ต่อการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท ซึ่งประกอบไปด้วยความสามารถในคิดและการเรียนรู้ การมีสมาธิ และความทรงจำ โดยวิตามินบำรุงสมองนั้นสามารถได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม หรือในกรณีที่จำเป็น อาจได้รับวิตามินบำรุงสมองจากการรับประทานอาหารเสริม
สมองทำหน้าที่ควบคุมและปรับสภาพการทำงานของระบบประสาทให้เป็นไปตามปกติ เช่น ความคิด ความจำ การแสดงอารมณ์ การเคลื่อนไหว และกระบวนการอื่น ๆ ในร่างกาย การบำรุงให้สมองด้วยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง และรับประทานอาหารที่มีวิตามินและสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง เช่น โอเมก้า 3 และโคลีน จึงสำคัญต่อการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพ
ทำความรู้จักวิตามินบำรุงสมอง
โดยทั่วไปวิตามินบำรุงสมองสามารถได้รับจากการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งวิตามินที่ช่วยบำรุงสมองนั้นมีอยู่หลายชนิด ดังนี้
1. วิตามินเอ
หลายคนอาจรู้มาก่อนแล้วว่าวิตามินเอเป็นวิตามินบำรุงสมองที่มีส่วนช่วยในการมองเห็น บำรุงผิวพรรณ และช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน แต่รู้หรือไม่ว่าวิตามินเอมีส่วนช่วยในการทำงานของสมองด้วย
สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) จัดเป็นโปรวิตามินเอ (Provitamin A) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสามารถแปลงไปเป็นวิตามินเอได้ โดยสารที่เป็นที่รู้จักอย่างเบต้าแคโรทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยเสริมการทำงานของการรับรู้และความจำ รวมทั้งช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ประสาทในสมองที่อาจนำไปสู่โรคพาร์กินสัน และอัลไซเมอร์
โดยเบต้าแคโรทีนนั้นจะพบมากในผักผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม และแดง เช่น แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ พริกหวานสีเหลืองและแดง แคนตาลูป และมันหวาน รวมทั้งผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง เคล และตำลึง
หญิงตั้งครรภ์ควรไม่ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอ เนื่องจากหากได้รับมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
2. วิตามินบี
วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 และวิตามินบี 12 เป็นวิตามินบำรุงสมองที่มีส่วนช่วยในการเผาผลาญโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ซึ่งสารที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารประเภทโปรตีน หากมีสารนี้สะสมในร่างกายปริมาณมาก อาจทำให้เกิดหลอดเลือดสมองได้รับความเสียหาย และทำให้ความคิดและความจำเสื่อมถอยลง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคสมองเสื่อม หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
วิตามินบี 6 ยังมีส่วนช่วยปรับสมดุลของอารมณ์ เนื่องจากเป็นสารที่จำเป็นต่อการสร้างสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) โดปามีน (Dopamine) และกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (Gamma-Aminobutyric acid หรือ GABA) ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าผู้สูงอายุที่ขาดวิตามินบีอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้
แหล่งของวิตามินบี เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อไก่ เนื้อหมู เครื่องในสัตว์ ปลาและอาหารทะเล ผักใบเขียว ถั่ว และธัญพืช ซึ่งคนโดยทั่วไปมักได้รับวิตามินบีอย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหาร
อย่างไรก็ตาม การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินบีนั้นจำเป็นเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะขาดวิตามินบี ไม่ควรซื้ออาหารเสริมมารับประทานเองเพื่อหวังผลในการรักษาโรคเกี่ยวกับสมองโดยไม่ได้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
3. วิตามินซี
วิตามินซีเป็นวิตามินบำรุงสมองที่มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทในสมองหลายชนิด และปรับสมดุลการปล่อยสารสื่อประสาทในเซลล์ประสาท วิตามินซียังมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระอาจทำให้ระบบประสาทและสมองเกิดความเสียหายของ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อม วิตามินซีจึงช่วยชะลอความเสื่อมถอยของทักษะทางความคิดและความจำ
งานวิจัยพบว่า วิตามินซีอาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และโรคทางจิต เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
วิตามินซีพบมากในผักผลไม้ เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำดาว บร็อคโคลี คะน้า ส้ม แคนตาลูป และสตรอว์เบอร์รี่
4. วิตามินอี
วิตามินอีเป็นวิตามินบำรุงสมองที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของความคิดและความเข้าใจ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และงานวิจัยบางชิ้นพบว่าการรับประทานวิตามินอีในปริมาณมากอาจชะลอการลุกลามของโรคอัลไซเมอร์ในผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับต้นถึงปานกลาง
อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยให้ผู้ทดลองรับประทานอาหารเสริมวิตามินอีมากถึงวันละ 2,000 หน่วยสากล (IU) หรือ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปริมาณวิตามินอีที่ผู้ใหญ่คนไทยควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 11-13 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น การได้รับวิตามินอีในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดและผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด และในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ ได้
วิตามินอีพบมากในอาหารจำพวกถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี และหน่อไม้ฝรั่ง รวมทั้งน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวัน
วิตามินบำรุงสมองหลายชนิดมีส่วนช่วยในการทำงานตามปกติของระบบประสาท ชะลอความเสื่อมของการคิดและความจำ ช่วยปรับสมดุลอารมณ์ และป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสมองได้ ทั้งนี้ การได้รับวิตามินเหล่านี้จากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและหลากหลายจะช่วยให้ได้รับวิตามินที่เพียงพอต่อการบำรุงสมองและช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง และหากต้องการรับประทานอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงความจำเป็นในการรับประทานและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ